top of page
  • รูปภาพนักเขียนREAL MAN

คุณรักใคร?

อัปเดตเมื่อ 11 ก.พ. 2563

เมื่อเราพูดถึงความสัมพันธ์แบบคู่ครอง "ความรัก"ย่อมเป็นสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ ชาย-หญิง, หญิง-หญิง, ชาย-ชาย หรืออื่นๆ เรามักจะอธิบายมันว่า เรารักคู่ของเรา และเราหวังจะให้อีกฝ่ายหนึ่งรักเราเช่นกัน

ปัญหามันอยู่ตรงนี้แหละ!

ปัญหาคือ บางทีเราก็ไม่รู้ ว่าเรารักใครกันแน่?

รักอีกฝ่ายหนึ่ง หรือ รักตัวเอง?

เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยผ่านช่วงเวลาวัยรุ่นที่เราสามารถทำทุกอย่างได้เพียงเพื่อพิสูจน์ว่า เรารักใครซักคนหนึ่ง

และเชื่อว่า มีคนไม่น้อยที่เคยมีประสบการณ์อกหักแบบจะตายเอา และคิดว่าชาตินี้คงรักใครไม่ได้อีกแล้ว

และอีกหลากหลายรูปแบบประสบการณ์ด้านความรักที่ดราม่าแบบสุดๆ


ทั้งหมดนั่น มันเพราะเรารักคนๆหนึ่งจริงๆหรือ?

ผมจะให้คุณตอบด้วยตัวเอง


สำหรับบทความนี้ จะขอชวนให้เรามาใช้ การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ไตร่ตรองกันดู

(คิดว่าทุกคนคงมีนิยามความรักเป็นของตัวเอง ซึ่งผมเองก็จะขอนำเสนอในมุมมองของผมในตอนหน้า)


รักตัวเอง

ด้วยกลไกป้องกันตัวเอง (self-defense mechanism) ของมนุษย์เรา ซึ่งทำงานในระดับอัตโนมัติปราศจากสติสั่งการ ย่อมปกป้องทั้งร่างกายและอัตตา (ego) ของเราไม่ให้ถูกทำร้าย

การที่เราลุ่มหลงใครซักคน เพราะกลไกนี้มันต้องการให้เราสามารถอยู่รอดและสืบพันธุ์ต่อไปได้

มันจึงอยากเห็นเราตอบรับความรู้สึกนี้ เพื่อที่ร่างกายของเราจะเข้าใกล้กระบวนการสืบพันธุ์มากขึ้น

และแน่นอน มันไม่อยากให้เราอกหัก เพราะนั่นแปลว่า มีอะไรบางอย่างในตัวเราที่ไม่เหมาะ(กับการที่บุคคลเป้าหมายนี้)จะสืบพันธุ์หรือใช้ชีวิตร่วมด้วย

เจ็บที่อกหัก เจ็บที่ถูกทำร้ายจิตใจ เจ็บที่ถูกหมางเมิน เสียหน้า เป็นผลมาจากกรณีเดียวกัน คือ เจ้าปัจเจกคนนี้ล้มเหลวในการได้มาซึ่งขั้นที่ 3 ของ Maslow's Hierarchy (อ่านทบทวนเรื่อง Maslow's Hierarchy ได้ที่นี่) Love and Belongingness Needs หรือ ความต้องการได้รับการยอมรับทางสังคม, มีตัวตนในสังคม, ได้รับความรัก

ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจที่เราจะรักตัวเอง ธรรมชาติให้เรามาแบบนี้ กลไกนี้มันทำงานเองโดยที่ไม่ได้แจ้งให้เราทราบล่วงหน้าด้วยซ้ำ

แต่มันก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัวด้วยเช่นกัน เมื่อเรารู้ตัวแล้วว่าจิตใจของเราทำงานอย่างไร เราก็จงใช้สติของเราเข้าควบคุมพฤติกรรมของมันให้ดี ไม่เช่นนั้น มันจะกลับมาทำร้ายเราเอง เช่น การที่เราเสียใจจะเป็นจะตาย นอนร้องห่มร้องไห้ ไม่เป็นอันกินอันนอน หรือการที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อีกฝ่ายหนึ่งมา ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม (ไม่เท่นะครับ ออกไปทางจนตรอกมากกว่า) นี่คือผลจากการที่กลไกป้องกันตัวเองของเราทำงานดีเกินไป จนกลายเป็นหันมาทำร้ายเราเองโดยที่เราไม่รู้ตัว


รักอีกฝ่ายหนึ่ง

ต้องบอกว่าเป็นแนวคิดที่ล้ำหน้าไปกว่าสิ่งมีชีวิตทั่วๆไปมาก ธรรมชาติไม่ได้ให้ติดตัวมา ไม่มีเป็น default setting (นอกจากกรณีเดียว คือความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก - ซึ่งจะขอละไว้ก่อน) นักคิดตั้งแต่สมัยโบราณ หรือแม้ในหลายศาสนาก็จะสอนให้เรารักกัน โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน

(แน่นอนครับ ทันทีที่เราหวังสิ่งใดๆตอบแทน ทั้งหมดนั้นจะเรียกว่าความรักไม่ได้ทันที)

คุณรักอีกฝ่ายหนึ่ง, คุณรักคนรักของคุณ โดยไม่หวังสิ่งใดๆตอบแทนได้หรือไม่?

คุณไม่หวังแม้กระทั่งได้รับความรักแบบเดียวกันกลับมาได้หรือไม่?

คุณจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้เขามีความสุข มีความสงบในใจ มีชีวิตที่ดี ประสบความสำเร็จ มีชีวิตยืนยาว และสืบสานต่อไป โดยไม่หวังสิ่งใดๆตอบแทนได้หรือไม่?


แยกแยะอย่างไร?

ถ้าเราใช้ปลายทางของพลังความรักที่เราส่งไปเป็นตัวแยกแยะ เราก็พอจะบอกได้ว่า เรารักใคร

ถ้าปลายทางของความตั้งใจและการกระทำ มันคือผลประโยชน์ของตัวเราเอง - ก็คือเรารักตัวเอง

ถ้าปลายทางของความตั้งใจและการกระทำ มันคือผลประโยชน์ของคนที่เรารัก - ก็คือเรารักคนรักของเรา


ยังสบสนอยู่?

ความรักเป็นเรื่องของทางเลือก ทุกคนมีสิทธิเลือก

เราจะรักเขา มันเป็นทางเลือกของเรา

เขาจะรักเราหรือไม่ มันเป็นทางเลือกของเขา

คุณไม่สามารถรักคนรักของคุณและในขณะเดียวกันหวังให้เขาตอบรับรักของคุณได้ เพราะมันขัดกันเอง ทันทีที่คุณหวังให้เขารักคุณ - คุณรักตัวเองแล้ว


ถึงจุดนี้ ตอบได้หรือยังครับ ว่าคุณรักใคร?


Be a REAL MAN

#ความรัก #รักคนอื่น #รักตัวเอง #love #unconditionallove


Note: สำหรับคนที่รู้ตัวแล้วว่ายังไม่พร้อมที่จะรักคนอื่น ติดตามต่อนะครับ ว่าเราจะรักตัวเองอย่างไร ให้มีสุขภาพที่ดี

留言


bottom of page