ผมเองไม่มี Bad Day มาหลายปีแล้ว ผมมีแต่เรื่องที่ต้องลุกขึ้นไปทำ
ขอเริ่มต้นบทความด้วยการบริหารสมองกันซะหน่อย
ถ้ามีเรื่องแย่ ๆ เกิดขึ้น วันนั้นเป็นวันที่แย่
ถ้ามีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้น วันนั้นเป็นวันที่ดี
ถ้ามีทั้งเรื่องแย่และเรื่องดีเกิดขึ้นในวันเดียวกัน วันนั้นเป็นวันแบบไหนกัน?
ฮืมม...
ถ้าวันนี้ทะเลาะกับแฟน = วันที่แย่
ถ้าวันนี้ได้ขึ้นเงินเดือน = วันที่ดี
ถ้าดันทั้งทะเลาะกับแฟนและได้ขึ้นเงินเดือน = ?
ฮืมมมมม...
ความคาดหวัง คือตัวกำหนด Good Day หรือ Bad Day
จะเป็นวันที่แย่หรือวันที่ดี สุดท้ายก็กลับมาขึ้นอยู่ที่ตัวเราเองว่าคาดหวังอะไรไว้มากน้อยแค่ไหน
หากเราคาดหวังเอาไว้ ว่าจะได้เงินเดือนขึ้นซัก 2,000 บาท:
ผลออกมาได้ 1,000 มันก็คงจะเป็นวันที่แย่
ผลออกมาได้ 3,000 มันก็คงจะเป็นวันที่ดี
ในขณะที่เพื่อนอีกคน ตำแหน่งเดียวกัน หากมันคาดหวังเอาไว้ ว่าจะได้เงินเดือนขึ้นซัก 4,000 บาท:
ผลออกมาได้ 3,000 มันก็คงจะเป็นวันที่แย่ของมัน
ผลออกมาได้ 5,000 มันก็คงจะเป็นวันที่ดีของมัน
สถานการณ์ที่แย่ของเพื่อนกลับเป็นสถานการณ์ที่ดีของเรา... มันยังไงกัน
สรุปแล้วมันมีวันที่แย่และวันที่ดีอยู่จริงรึเปล่า?
แล้วมันสำคัญมากขนาดที่เราจะต้องมานั่งติดป้ายให้ทุกวันที่ผ่านไปไหม ว่าวันนี้เป็นวันที่แย่หรือวันที่ดี!?
ดั่งคำคมเท่ ๆ ที่กล่าวกันไว้ว่า
คนที่ไม่เคยคาดหวัง ย่อมไม่เคยผิดหวัง
เท่ที่สุด แต่มันพูดง่ายกว่าทำใช่ไหมครับ
และมีใครกล้าการันตีไหม ว่าการไม่คาดหวังอะไรเลย มันดีกับเราจริง ๆ ?
คุณได้รับแก้วมีน้ำอยู่ครึ่งหนึ่ง คุณ(เลือกที่จะ)เห็นอะไร?
คนที่มองโลกในแง่ร้าย ก็จะเห็นว่ามีน้ำแค่ครึ่งแก้ว แล้วก็เริ่มกังวลว่า น้ำอีกครึ่งแก้วหายไปไหน คนอื่นได้เหมือนกันรึเปล่า เราได้น้อยกว่าคนอื่นไหม ทำไมที่นี่ให้น้ำเราแค่นี้ ไม่เติมมาให้มันเต็ม
คนที่มองโลกในแง่ดี ก็จะเห็นว่าให้น้ำมาตั้งครึ่งแก้ว แล้วก็เริ่มเอนจอยว่า ดีจังมีน้ำให้ด้วย ไปที่อื่นบางที่ไม่มีน้ำให้เลยด้วยซ้ำ
บางคนเลือกโฟกัสกับสิ่งที่มีอยู่ บางคนเลือกโฟกัสกับสิ่งที่ขาดหายไป
เราเลือกให้คุณค่ากับสิ่งไหน เราก็จะได้คุณค่าจากสิ่งนั้น
ถ้าเราเลือกจะเอนจอยกับสิ่งที่มีอยู่ เราก็จะได้รับความปิติยินดีจากสิ่งที่มีอยู่
ถ้าเราเลือกจะเจ็บแค้นกับสิ่งที่ขาดหาย เราก็จะได้รับความทุกข์ใจที่บางอย่างมันขาดหายไป
สรุปแบบกำปั้นทุบหัว! มันไม่มีวันที่ดีหรือวันที่แย่ มันไม่มี Good Day หรือ Bad Day มันมีแต่ว่า เราจะเลือกพิจารณาเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตเรายังไง และเลือกที่จะรับมือกับมันยังไง หากเราไม่คาดหวังอะไรที่มันเลิศเลอและไม่หวาดวิตกเกินจริง ทุกวันย่อมเป็น Good Day หรือวันที่ดีเสมอ
ถ้าถึงตรงนี้คุณได้คำตอบแล้วว่า จะเลือกพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของคุณเองยังไง ปิดบทความนี้แล้วออกไปใช้ชีวิตได้เลย
แต่ถ้ายัง อ่านต่อไปครับ
สาเหตุความปั่นป่วน: มนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนามาได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะคุณ ผม และพวกเราทุกคนดันมาสิงอยู่ในกายหยาบของสิ่งมีชีวิตที่พัฒนามาได้ครึ่ง ๆ กลางๆ อยู่ระหว่างทางจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไปสู่อะไรบางอย่าง
(นั่นทำให้เราสามารถคิดอะไรเพ้อเจ้อได้หลายอย่างที่สัตว์อื่น ๆ ทำไม่ได้ เช่น การติดป้ายว่าวันนี้เป็น Good Day และอีกวันเป็น Bad Day คุณคิดว่าหมาแมวที่บ้านมันได้สรุปกับตัวเองบ้างไหม ว่าวันนี้เป็นวันที่ดีหรือวันที่แย่? คุณเคยเห็นหมาแมวนั่งเฉา เพราะวันนี้เป็นวัน Bad Day ของมันไหม? แม้กระทั่งเราเอง ถ้าเห็นหมาแมวซึม เราก็คิดไว้ก่อนว่ามันไม่สบาย(กาย) เราไม่เคยเอะใจว่าหรือเจ้าหมาจะมีวันที่แย่มาหรือเปล่านะ)
ทำให้หลายครั้งเราซึ่งยังไม่ชำนาญในการจัดการกับความขัดแย้ง สับสนว่าการมองโลกในแง่ดีหรือมองโลกในแง่ร้าย อันไหนจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นกว่ากัน?
การต่อสู้กันของการพัฒนาไปข้างหน้ากับสัญชาตญาณ
ขอแนะนำนักชกจากมุมน้ำเงิน
Optimism Bias
คุณ Tali Sharot นักจิตวิทยา ได้นำเสนอ Optimism Bias เอาไว้ว่า "ความเชื่อที่ว่าอนาคตจะดีกว่าปัจจุบันและอดีตเสมอ"
นี่คือฝั่งที่พัฒนาไปข้างหน้า เนื่องจากมีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่วุ่นวายกับเรื่องของอนาคต และล้ำไปอีกว่าอนาคตจะดีกว่าปัจจุบันและอดีต
และขอแนะนำนักชกจากมุมแดง
การมองโลกในแง่ร้าย ถูกฝังมาใน DNA
คุณ Martin Seligman ได้เสนอไว้ว่า ทักษะการมองโลกในแง่ร้าย ถูกฝังมาใน DNA ของสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ที่รอดพ้นยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายมาได้ ซึ่งก็ราว 11,700 ปีมาแล้ว มันได้เรียนรู้ซ้ำ ๆ ทุกวัน ทุกวินาที ทุกขณะจิตว่าสภาพอากาศอันเลวร้ายเกิดขึ้นได้เสมอ เรื่องร้าย ๆ บัดซบขนาดที่จะล้างเผ่าพันธุ์เราได้เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
นี่คือฝั่งที่สร้างสัญชาตญาณเก่าแก่อย่างน้อย 11,700 ปีจากยุคน้ำแข็งจนถึงปัจจุบันว่าเรื่องร้าย ๆ จะเกิดขึ้นกับเราเสมอ
เนื่องจากทักษะการเอาตัวรอดถูกฝังอยู่ใน DNA เรามาอย่างช้านาน และทักษะการจินตนการถึงอนาคตที่ดีมนุษย์เราเพิ่งจะทำกันได้เมื่อไม่นานมานี้ เหล่านี้เองที่อธิบายว่า ทำไมมันง่ายนักที่จะสรุปกับตัวเองว่า วันนี้คือวันที่แย่ และทำไมการมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันนั้นให้เป็นวันที่ดีมันยากเต็มที
วังวนของการมองโลกในแง่ดี และการมองโลกในแง่ร้าย
ดูเหมือนว่า เราจะติดอยู่ในวังวนสินะ ในเมื่อ...
คิดแง่บวกก็เจอกับความผิดหวัง
คิดแง่ร้ายก็เจอกับความหวาดระแวง
เอาล่ะ ในเมื่อเราเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูงที่มีการพัฒนามาถึงจุดนี้แล้ว เราจะขอใช้ทักษะที่สู้อุตส่าห์พัฒนาขึ้นมานี้ต่อไป นั่นก็คือการมองโลกในแง่ดี แต่จะทำอย่างไรที่จะลดอาการบาดเจ็บจากการผิดหวังจากการมองโลกในแง่ดีกันล่ะ?
ตั้งเป้า วางแผน ลงมือทำ ประเมินผล และทำวนไป
เรื่องตลกฮ่าฮ่าก็คือ ไอ้เครื่องมือที่เราใช้ในชีวิตการทำงาน ที่เราใช้ทำเงินให้นายทุนนี่แหละ เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการจัดการกับชีวิตเราเองด้วย เคยเอามาลองใช้กันไหม?
หากเราจะลงมือทำซักโปรเจกนึง มันจะมีขั้นตอนอะไรบ้าง?
ตั้งเป้า, วางแผน, ลงมือทำ, ประเมินผล
อาจจะต่างกันไปบ้างในแต่ละองค์กร แต่รูปแบบมันก็จะอยู่ประมาณนี้
ตั้งเป้า - การคาดหวังของเราจะไม่เกินจริงอีกต่อไป หากเราเริ่มพิจารณาจากจุดที่เราอยู่และจุดที่อยากไปให้ถึงอย่างไม่เพ้อฝัน
หากในการทำงาน เจ้านายอยากได้ยอดขายเพิ่ม 50% ภายใน 3 เดือน คุณร้องว่า มันเป็นไปไม่ได้ ในชีวิตจริงคุณก็จะขอตั้งเป้าให้รวยขึ้น 50% ภายใน 3 เดือนมันก็เป็นไปไม่ได้ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การตั้งเป้าที่เป็นไปได้ จับต้องได้ ท้าทายหน่อย ๆ จะทำให้คุณมีโอกาสพบกับความผิดหวังน้อยลง
วางแผน - คิดก่อนทำเสมอ หากเราไม่วางแผน การทำงานก็จะสะเปะสะปะ ไม่มีขั้นตอนที่ชัดเจน ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่
หากในการทำงาน เราเที่ยวด่าคนอื่นว่าทำงานไม่เป็นระบบ ไม่มีแผนการวางแผน ไม่มี timeline ก็ควรเอาความเป็นระบบแบบนั้นมาช่วยวางแผนให้ชีวิตตัวเองด้วย คุณมีเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นไปได้ ท้าทายนิด ๆ แล้ว วางแผนให้เป็นระบบ ให้วัดผลได้ ก็จะเข้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นมาอีกนิดแล้ว
ลงมือทำ - วางแผนแล้วก็ทำตามแผน ไม่มีอะไรสนุกกว่านี้อีกแล้ว
คุณเคยนำเสนอแผนและหัวหน้าได้อนุมัติแล้วไม่ลงมือทำไหม?
อย่าทำแบบนั้นกับชีวิตตัวเอง มีเป้าแล้ว มีแผนแล้ว ลงมือทำซะ หากทำงานให้คนอื่นได้ ก็จงทำงานให้ชีวิตตัวเองด้วย
ประเมินผล - ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดที่จะบอกว่าได้ไปถึงเป้าที่ตั้งไว้ไหม อะไรขาดอะไรเกินและได้เรียนรู้อะไรมาบ้างระหว่างทาง
หลังจากจบแต่ละงาน ถ้าทำได้ตามเป้า เตรียมตัวรับความดีความชอบ ในขณะเดียวกัน เราก็ได้บทเรียนที่สอนว่าเราได้พลาดตรงไหนไป จุดไหนที่เราสามารถทำให้ดีขึ้นได้ เพื่อที่จะนำไปใช้ในคราวต่อไป
นำหลักการเดียวกันนี้ ไปประเมินแผนที่คุณได้วางไว้และได้ลงมือทำทั้งหมดที่ผ่านมา คุณจะพบว่า อ้อ มันมีตรงนี้นะที่เราทำให้ดีขึ้นได้ ตรงนี้นะที่ต้องระวังมากกว่านี้ และคุณก็พร้อมที่จะเริ่มทั้งหมดใหม่อีกครั้งกับเรื่องเดิมหรือเรื่องอื่น ๆ
การนำไปใช้จริง
ในชีวิตจริง คุณจะทำทั้งหมดนี้ในลูปเล็ก ๆ หลาย ๆ ลูป แต่ละลูปอาจจะจบเร็วหรือช้าต่างกันไป เช่น การพูดคุยเรื่องสำคัญกับแฟนไม่ให้ทะเลาะกัน อาจจะไม่ต้องมานั่งเขียน timeline วาด workflow แต่คุณจะมีเป้าอยู่ในใจ สมมติว่าจะต้องไม่มีการทะเลาะ จากนั้นคุณคิดออกแบบว่าจะคุยยังไงไม่ให้ทะเลาะ จะใช้คำพูดยัง จากนั้นก็หาโอกาสคุย และประเมินว่าที่ออกแบบไว้ เวิคไหม ถ้าไม่เวิคคราวหน้าจะทำอย่างไรให้มันดีขึ้น
ในขณะที่การขอขึ้นเงินเดือนจะใช้เวลานานกว่า เริ่มจากคุณมีจำนวนเงินที่ต้องการในใจ เดินไปหาหัวหน้าถามว่าอยากได้เงินเดือนเพิ่มเท่านี้ ต้องทำอะไรบ้าง ลงมือทำตามแผนที่ตกลงกัน หากทำตามที่ตกลงกันไว้แล้ว คุณก็ควรจะได้ขึ้นเงินตามที่ขอ อย่างไรก็ดี มันอาจจะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เสมอ เช่น เกิดภัยธรรมชาติ เศรษฐกิจทรุด บริษัทไม่สามารถขึ้นเงินให้พนักงานได้ เรื่องพวกนั้นเป็นเรื่ิองนอกเหนือการควบคุม ไม่จำเป็นต้องนำมาพิจารณา เพราะไม่มีใครทำอะไรได้
สิ่งที่คุณทำได้ คุณได้ทำไปหมดแล้ว
จบ
ไม่มี Bad Day...
ไม่มีวันที่แย่ใช่ไหมครับ
ผมเองไม่มี Bad Day มาหลายปีแล้ว ทุกวันนี้มีแต่เรื่องที่ต้องลุกขึ้นไปทำ
Be a REAL MAN
#ความคาดหวัง #การมองโลกในแง่ดี #การมองโลกในแง่ร้าย #วันที่แย่ #วันที่ดี #goodday #badday #การพัฒนาตนเอง
Comments